ล็อคเอ้าท์แท็กเอ้าท์ในงานก่อสร้าง (Lockout Tagout in Construction Site)

ภายในพื้นที่ไซด์งานก่อสร้างนั้น เต็มไปด้วยสภาพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามความคืบหน้าของการก่อสร้างอีกทั้งในงานก่อสร้างนั้น ได้มีการนำเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาใช้งานเพื่อการก่อสร้าง และอาจทำให้เกิดความสับสนสำหรับผู้ปฏิบัติงานภายในพื้นที่ก่อสร้างได้ ซึ่งยังไม่นับรวมถึงพื้นที่ก่อสร้างที่มีการใช้งานของผู้รับเหมารายย่อย หรือ Subcontractor อีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งานอุปกรณ์ เครื่องจักรต่างๆ ด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยรูปข้างล่างนี้คือ ตู้ไฟฟ้าย่อยภายในพื้นที่ก่อสร้างที่เราคุ้นชิน

20151211_131257_resized

เพื่อความปลอดภัยทางด้านไฟฟ้านั้น ระเบียบปฏิบัติตัวหนึ่งที่สำคัญก็คือระบบล็อคเอ้าท์ แท็กเอ้าท์ Lockout Tagout หรือ LOTO แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า LOTO นั้นสามารถนำมาใช้งานกับพื้นที่ก่อสร้างในเมืองไทยได้หรือไม่?

ก่อนอื่น เราต้องทราบถึงข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. ๒๕๕๘

ในข้อที่ 15 กล่าวคือ “ให้นายจ้างจัดให้มีการใช้กุญแจป้องกันการสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจร หรือจัดให้มีระบบ ระวังป้องกันมิให้เกิดการสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรตลอดเวลาที่ลูกจ้างซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าทํางาน ติดตั้ง ตรวจสอบ ซ่อมแซม หรือซ่อมบํารุงระบบไฟฟ้าหรือบริภัณฑ์ไฟฟ้า และให้ติดป้ายแสดง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ห้ามสับสวิตช์เชื่อมต่อวงจรไว้ด้วย” ซึ่งมีการบังคับใช้รวมถึงในงานก่อสร้างด้วย

ดังนั้นการควบคุมแหล่งพลังงานไฟฟ้าภายในพื้นที่ก่อสร้างจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติ โดยมีหลักการง่ายๆ 4 ข้อด้วยกัน คือ

1. การสร้างระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมแหล่งพลังงานที่อันตราย

สำหรับระเบียบปฏิบัติงานการควบคุมแหล่งพลังงานที่อันตราย หรือการใช้งานระบบล็อคเอ้าท์แท็กเอ้าท์ นั้นอาจเริ่มต้นจากการกำหนดความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างว่าใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับระบบล็อคเอ้าท์แท็กเอ้าท์ เช่น หัวหน้างานมีหน้าที่เป็นผู้ทำการล็อคเอ้าท์ทุกครั้งเมื่อทำการปิดแหล่งพลังงานไฟฟ้า โดยวิศวกรโครงการเป็นผู้ถือกุญแจมาสเตอร์คีย์ในกรณีที่ต้องใช้งานฉุกเฉิน เป็นต้น

2. ทำการระบุรายการของเครื่องมือ อุปกรณ์ หรืองานใดบ้างที่ต้องทำการควบคุมแหล่งพลังงาน อาทิเช่น ตู้ไฟฟ้า สวิตซ์ไฟฟ้า วาล์ว ท่อลม ท่อก๊าซ ใดบ้างที่อยู่ในของเขตการใช้งานของระเบียบปฏิบัติงานนี้ โดยอาจทำการชี้บ่งได้โดยการแปะสติกเกอร์สัญลักษณ์การล็อคเอ้าท์ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทราบว่า เมื่อใดที่จะทำการปิดหรือควบคุมแหล่งพลังงานนี้ จะต้องทำการล็อคเอ้าท์แท็กเอ้าท์ทุกครั้ง

3. ทำการฝึกอบรม และสื่อสารถึงระเบียบปฏิบัติงานในการควบคุมแหล่งพลังงานที่อันตรายนี้ให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ผู้รับเหมา ผู้รับเหมาช่วง และผู้เยี่ยมชมให้รับทราบและปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด

4. จัดเตรียมอุปกรณ์ล็อคเอ้าท์ และแท็กเอ้าท์ให้มีความเพียงพอ และเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติงาน

 

ซึ่งโดยในปี 2557 ที่ผ่านมามียอดผู้ประสบอุบัติเหตุในกลุ่มงานก่อสร้างสูงถึงเกือบ 10,000 คน โดยในนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 100 คน และบาดเจ็บถึงขั้นหยุดงานเกิน 3 วันเกินกว่า 2,000 ราย ดังนั้นเราจึงหวังว่า ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมแหล่งพลังงานที่อันตรายจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุในกลุ่มงานก่อสร้างได้

Share your thoughts